Column banner

จาก ฟื้นภาษา ได้อาหาร ถึง ไอซีทีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

     สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน วันนี้ “ก้ามปู” ขออนุญาตรับหน้าที่แนะนำ “หนังสือทูลกระหม่อม” แทนเจ้าของคอลัมน์ตัวจริงทั้งสองท่าน คือ “หวานเย็น” และ “แก้วใส” ซึ่งในช่วงนี้ล้วนติดภารกิจสำคัญหลายประการค่ะ

     ในรอบปีนี้ มีพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีออกใหม่หลายเล่มหลายแนว มีทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ สมุดบันทึกภาพปะปิดฝีพระหัตถ์ฯ หนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ และพระราชดำรัสที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่ง “ก้ามปู” ขอนำเสนอโดยย่อทีละเล่มนะคะ    

“ฟื้นภาษา ได้อาหาร”

     พระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศลำดับที่ ๕๐ เป็นบันทึกประสบการณ์และสิ่งที่ทรงได้พบเห็นจากการที่ได้เสด็จ ฯ ไปทรงเพิ่มพูนความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ณ สถาบันสอนภาษาตูแรน ที่เมืองตูร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๔-๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ แต่ก็ได้ทรงใช้เวลานั้นอย่างคุ้มค่า ทรงฝึกฝนการใช้ภาษาฝรั่งเศสทั้งการพูด อ่าน เขียน ทรงมี “การบ้าน” เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป การกลับไปสู่การเรียนอีกครั้งทำให้ทรงประจักษ์ถึงประโยชน์ของการเข้าเรียนในชั้นเรียน ซึ่งช่วยให้ทรงได้รับความรู้จากครูผู้เป็นเจ้าของภาษา “ก้ามปู” ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์บางส่วนที่แสดงถึงพระราชดำริเกี่ยวกับการทรงพระอักษรมานำเสนอ ณ ที่นี้

“...รู้สึกว่าที่เรียนในห้องจะเป็นประโยชน์มากกว่าในด้านภาษา เพราะข้าพเจ้ามีโอกาสอยู่แล้วในด้านการไปที่ต่างๆ แต่การที่ได้เรียนกับครูเป็นเรื่องหายาก คนฝรั่งเศสธรรมดาๆ พูดอะไรข้าพเจ้าเข้าใจอยู่แล้ว และข้าพเจ้าพูดอะไรเขาก็เข้าใจ แม้จะพูดไม่ถูกต้อง การเรียนในห้องทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น...”

     เรื่องราวใน “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มนี้นำเสนอในรูปแบบของบันทึกประจำวัน ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ในฝรั่งเศส ทรงเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมฝรั่งเศสจากทุกสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรเห็น ทรงจดบันทึกข้อมูลไว้ตลอดเวลา เพื่อนำมาถ่ายทอดในพระราชนิพนธ์บันทึกการเดินทางเล่มนี้ พลอยทำให้ผู้อ่านที่อาจจะไม่เคยไปเมืองตูร์ หรือฝรั่งเศส ได้รู้จักเมืองและประเทศนี้ในแง่มุมต่างๆ ค่ะ
     สำหรับปริศนาของชื่อหนังสือที่บางท่านอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงทรงตั้งชื่อหนังสือว่า “ฟื้นภาษา ได้อาหาร” นั้น “ก้ามปู” คงต้องขอชวนเชิญให้ท่านผู้อ่านได้ค้นหาคำตอบภายในพระราชนิพนธ์เล่มนี้กันค่ะ และเมื่ออ่านจบแล้ว ท่านผู้อ่านก็จะได้เห็นภาพเมืองตูร์ในดินแดนงามสงบของลุ่มแม่น้ำลัวร์ เช่นเดียวกับ “ก้ามปู” นะคะ                                     

“ปะปิดพิจิตรวาร”

     เมื่อปลายปี ๒๕๕๒ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จัดพิมพ์ “ปะปิดพิจิตรวาร” สมุดบันทึกภาพปะปิดฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบของสมุดบันทึกประจำปี ลักษณะพิเศษของสมุดบันทึกเล่มนี้คือ เป็นสมุดเก็บสิ่งสะสมจากการเดินทาง อย่างที่ชาวตะวันตกเรียกกันว่า  Scrapbook สิ่งของที่ทรงสะสมไว้มีมากมาย เช่น บัตรผ่านขึ้นเครื่องบิน แสตมป์ โปสต์การ์ด ต้นหญ้าหรือใบไม้แห้งจากสถานที่ต่างๆ ที่เสด็จ ฯ ไป เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้คือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ ในมุมมองของพระองค์เอง ทรงนำสิ่งสะสมเหล่านี้มาประดิษฐ์เป็น “สแครปบุ๊ก” และทรงเขียนบรรยายประกอบในแต่ละหน้าไว้อย่างชวนติดตาม “ก้ามปู” ขออัญเชิญพระราชปรารภเกี่ยวกับงานปะปิดฝีพระหัตถ์ อันเป็นการนิยามลักษณะของ “สแครปบุ๊ก” มานำเสนอ ณ ที่นี้

     “...สมุดเล่มนี้ เป็นที่สะสมความรู้สึกดีๆ หรือแม้แต่ร้ายๆ (ถ้ามี) จากการรับประทานอาหารต่างๆ พร้อมกับการสร้างงานศิลปะ ในรูปแบบ Scrapbook เท่าที่เวลาจะอำนวย จะปรุงอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ (แต่ถ้าเย็นเกินไปคนกินจะโมโหหิว!)...”

     ในสมุดบันทึกเล่มนี้ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องสั้นๆ ประกอบไว้ด้วย เช่น “FOOD FOR THOUGHTS”, “ไปดูสุริยุปราคาที่เซี่ยงไฮ้”, “คนโบราณพยายามอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ” แต่ละเรื่องล้วนอ่านเพลิน ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่งค่ะ   
     ต้นปี ๒๕๕๓ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์ “ปะปิดพิจิตรวาร” ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๕๓  ครั้งนี้เป็นรูปแบบสมุดบันทึกมีเส้นที่สามารถใช้จดบันทึกได้เต็มหน้า เหมาะกับการใช้งานอเนกประสงค์อย่างยิ่งค่ะ รายได้ทั้งหมดสมทบทุนการดำเนินงานของ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของมูลนิธิฯ ค่ะ

“ถ้าเดินเรื่อยไปย่อมถึงปลายทาง -  DESTINATIONS”

     “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มนี้ เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายจากนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ จำนวน ๑๘๗ ภาพ ที่ทรงฉายในโอกาสและสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๕๑-๒๕๕๒ มาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ ถึง ๑๗ มกราคม ๒๕๕๓ และเป็นที่น่ายินดีว่า ในเดือนเมษายน ๒๕๕๓ นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญภาพถ่ายฝีพระหัตถ์คอลเลคชั่นเดียวกันนี้ไปจัดแสดง ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๙-๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ ค่ะ
     ที่มาของชื่อนิทรรศการภาพถ่าย ได้ทรงกล่าวถึงไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริที่ท่านผู้อ่านสามารถนำมาเป็นข้อคิดในชีวิตจริงได้เป็นอย่างดีค่ะ “ก้ามปู” จึงขออัญเชิญความตอนหนึ่งมาดังนี้

     “พักนี้ข้าพเจ้าต้องไปที่โน่นที่นี่มากกว่าแต่ก่อน ทั้งในและนอกประเทศ บางทีวันๆ หนึ่งไปได้ไม่ครบทุกที่ที่เตรียมไว้ บางวันดินฟ้าอากาศไม่อำนวย รถเสีย หรือมีอุปสรรคอื่นๆ ทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง อุปสรรคเหล่านี้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ได้แต่คิดว่าถ้าเดินไปเรื่อยๆ ไม่ย่อท้อก็ย่อมไปถึงที่ที่เราอยากไป นี่เป็นเรื่องรูปธรรม ในทางนามธรรมคือ ความมุ่งหวัง ความสำเร็จ ถ้าเราก้าวเดินไปตามทิศทางที่ถูกต้องย่อมถึงปลายทางเข้าสักวัน จะช้าหรือเร็วก็ไม่ต้องเครียด ภาพที่แสดงครั้งนี้ เป็นภาพถ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ในประเทศ รวมทั้งภาพตอนเดินไปรอบๆ บ้านตัวเอง เดินตั้งร้อยเที่ยวพันเที่ยวแล้วยังเห็นอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อย...”

     หนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ “ถ้าเดินเรื่อยไปย่อมถึงปลายทาง” จัดพิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี สี่สีตลอดเล่ม เพื่อนำเสนอภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ แต่ละภาพได้อย่างงดงามค่ะ ทั้งยังทรงเขียนคำบรรยายภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกภาพอีกด้วยนะคะ
 

“ICT as a Tool to Harness Knowledge and Technology For Sustainable Development –
ไอซีที สานความรู้และเทคโนโลยีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
 


     “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มนี้เป็นแนววิชาการที่อ่านไม่ยากเกินไปค่ะ เพราะเป็นพระราชดำรัสที่ได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ มีทั้งสาระและข้อคิดที่น่าศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง
สืบเนื่องจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ ๑๒ ในหัวข้อ “มองโอกาสและความท้าทายของโลกาภิวัตน์และการพัฒนา” ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ ทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑
     ในการนี้ ทรงบรรยายเรื่อง  “ICT as a Tool to Harness Knowledge and Technology for Sustainable Development - ไอซีที สานความรู้และเทคโนโลยีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ทรงเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
อีกทั้งทรงเล่าถึงประสบการณ์การทรงงานด้านนี้ในประเทศไทยอีกด้วย  พระราชดำรัสที่ได้ทรงกล่าว ณ กรุงอักกรานั้นเป็นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ในหนังสือที่จัดพิมพ์นี้ ได้มีการจัดทำฉบับแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วยค่ะ

     ท่านผู้อ่านที่สนใจ “หนังสือทูลกระหม่อม” ทั้ง ๔ เล่มดังที่ “ก้ามปู” ได้นำเสนอมาทั้งหมดนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอรวรรณ แย้มพลาย กองงานในพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๓ โทรศัพท์ ๐๒-๒๘๐-๓๕๘๑-๙ ต่อ ๖๗๑ โทรสาร ๐๒-๒๘๐-๑๖๓๙ หรืออีเมล์มาที่ orawanya@mozart.inet.co.th  นะคะ        

     สำหรับในฉบับนี้ “ก้ามปู” คงต้องขอกล่าวคำอำลาต่อท่านผู้อ่านไปก่อนนะคะ 
                                                                                                     สวัสดีค่ะ